ภาพพระธาตุพนมองค์ปัจจุบัน |
พระธาตุพนม มีลักษณะเป็นเจดีย์รูปสี่เหลี่ยมจตุรัสก่อด้วยอิฐ กว้างด้านละ 12.33 เมตร สูง 53.6 เมตร มีกำแพงล้อมองค์พระธาตุ 4 ชั้น องค์พระธาตุตั้งอยู่บนภูกำพร้า (เนินดินสูงจากพื้นธรรมดาประมาณ 3 เมตร) ภายในบริเวณมีบึงขนาดใหญ่เรียกว่าบึงธาตุพนม ในวันเพ็ญเดือน 3 ถึง แรม 1 ค่ำ เดือน 3 ของทุกปีจะมีงานประจำปีเพื่อเป็นการนมัสการพระธาตุพนม
การบูรณะพระธาตุพนม
พระธาตุพนมมีอายุยาวนานกว่า 2,500 ปี อันมีพระมหากัสสปะเถระเป็นประธาน มีเจ้าพญาทั้ง 5 พระองค์สนับสนุนร่วมการก่อสร้าง จึงได้มีการปฏิสังขรณ์ต่อเติมครั้งใหญ่ๆจำนวน 3 ครั้งคือ
ครั้งที่ 1 : ราวปี พ.ศ.500 ได้มีการปฏิสังขรณ์ครั้งแรกโดยพระอรหันต์ 5 รูป ให้สูงขึ้น โดยมีพญามิตตธรรมวงศาแห่งเมืองมรุกขนครเป็นประธานฝ่ายฆราวาส และฤาษีอีก 2 ตน (อมรฤาษีและโยธิถฤาษี) ได้นำศิลาจากยอดภูเพ็กมาตั้งประดิษฐานไว้บนชั้นที่ 2 ขององค์พระธาตุ
ครั้งที่ 2 : ราวปี พ.ศ. 2233 – 2235 (ตามประวัติศาสตร์ลาว) เจ้าราชครูหลวงโพนสะเม็ก (ญาคูขี้หอม) ได้มาบูรณะต่อเติมองค์พระธาตุตั้งแต่ชั้นที่ 2 จนถึงยอด รวมความสูง 43 เมตร ฉัตร 4 เมตร รวมเป็น 47 เมตร
ครั้งที่ 3 : ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อานันทมหิดล พ.ศ.2483 – 2484 ได้มีการซ่อมแซมและต่อเติมพระธาตุพนมขึ้นไปอีก 10 เมตร โดยการนำของอธิบดีกรมศิลปากร
จนกระทั่งเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2518 เวลา 19:38 น. เป็นวันที่ฝนตกพร่ำทั้งวัน อีกทั้งยังมีพายุโหมกระหน่ำทำให้องค์พระธาตุพนมที่ทรุดโทรมล้มลง ยังความสลดสังเวชใจแก่พุทธศาสนิกชนอย่างยิ่ง
ภาพพระธาตุพนม จากบันทึกในช่วง พ.ศ. 2409-11 โดย Louis Delaporte ภาพจาก : https://www.silpa-mag.com/club/art-and-culture/article_5251 |
เมื่อพระธาตุพนมล้ม จึงทำการรื้อถอนและทำการสร้างพระธาตุองค์ใหม่อย่างเร่งด่วน จนกระทั่งวันที่ 17-18 ตุลาคม พ.ศ. 2518 ได้พบพระอุรังคธาตุอยู่ที่พระธาตุท่อนกลาง ซึ่งสูงจากระดับพื้นดิน 14.70 เมตร แต่ขณะที่พบนั้นพบอยู่บนกองอิฐปูนที่พังลงมาจากพระธาตุชั้นที่ 2 ส่วนบน สูงจากระดับพื้นดินประมาณ 3 เมตร
เมื่อทำการก่อสร้างพระธาตุพนมองค์ใหม่ขึ้นเป็นที่เรียเรียบร้อยแล้ว จึงถึงวาระพระราชพิธีบรรจุพระอุรังคธาตุ ในวันที่ 21-23 มีนาคม พ.ศ.2522 ซึ่งวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ.2522 เวลา 14:19 น. พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พร้อมด้วยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ทรงจับสายสูตรอัญเชิญพระอุรังคธาตุขึ้นไปประดิษฐานไว้ในองค์พระธาตุทางทิศตะวันออก ยังความปลาบปลื้มปิติยินดีและเสียงอนุโมทนาสาธุทั่วทั้งบริเวณพิธี
ตำนานพระธาตุพนม
ตามตำนานพระธาตุพนม ในอุรังคนิทานกล่าวว่า สมัยหนึ่งในปัจฉิมโพธิกาล พระพุทธเจ้า พร้อมทั้งพระอานนท์ ได้เสด็จมาทางทิศตะวันออก โดยทางอากาศ ได้มาลงที่ดอนกอนเนา แล้วเสด็จไปหนองคันแทเสื้อน้ำ (เวียงจันทน์) ได้พยากรณ์ไว้ว่า ในอนาคตจะเกิดบ้านเมืองใหญ่ เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธศาสนา จากนั้นได้เสด็จไปตามลำดับ ได้ทรงประทานรอยพระพุทธบาทไว้ที่ โพนฉัน (พระบาทโพนฉัน) อยู่ตรงข้ามอำเภอโพนพิสัย จังหวัดหนองคาย แล้วเสด็จมาที่ พระบาทเวินปลา ซึ่งอยู่เหนือเมืองนครพนมปัจจุบัน ได้ทรงพยากรณ์ที่ตั้งเมืองมรุกขนคร (นครพนม) และได้ประทับพักแรมที่ภูกำพร้าหนึ่งคืน วันรุ่งขึ้นเสด็จข้ามแม่น้ำโขง ไปบิณฑบาตที่เมืองศรีโคตรบูรณ์ พักอยู่ที่ร่มต้นรังต้นหนึ่ง (พระธาตุอิงฮังเมืองสุวรรณเขต) แล้วกลับมาทำภัตกิจ (ฉันอาหาร) ที่ภูกำพร้าโดยทางอากาศ
พญาอินทร์ได้เสด็จมาเฝ้าและทูลถามพระพุทธองค์ ถึงเหตุที่มาประทับที่ภูกำพร้า พระพุทธองค์ได้ตรัสว่า เป็นประเพณีของพระพุทธเจ้าทั้ง 3 พระองค์ ในภัททกัลป์ที่นิพพานไปแล้ว บรรดาสาวกจะนำพระบรมสารีริกธาตุ มาบรรจุไว้ที่ภูกำพร้า พระพุทธองค์เมื่อนิพพานแล้ว พระมหากัสสปะ ผู้เป็นสาวก ก็จะนำเอาพระบรมสารีริกธาตุมาบรรจุไว้ ณ ที่นี้เช่นกัน จากนั้นพระพุทธองค์ก็ได้ทรงปรารภถึงเมืองศรีโคตบูร และมรุกขนคร แล้วเสด็จไปหนองหารหลวง ได้ทรงเทศนาโปรดพญาสุวรรณพิงคาระ และพระเทวี ประทานรอยพระพุทธบาทไว้ ณ ที่นั้น แล้วเสด็จกลับพระเชตวัน หลังจากนั้นก็เสด็จปรินิพพานที่เมืองกุสินารา
เมื่อพระพุทธองค์เสด็จปรินิพพานแล้ว มัลลกษัตริย์ทั้งหลายได้ถวายพระเพลิงพระสรีระ แต่ไม่สำเร็จ จนเมื่อพระมหากัสสปะมาถึงได้อธิษฐานว่า พระธาตุองค์ใดที่จะอัญเชิญไปประดิษฐานที่ภูกำพร้า ขอพระธาตุองค์นั้นเสด็จมาอยู่บนฝ่ามือ ดังนี้แล้ว พระอุรังคธาตุ ก็เสด็จมาอยู่บนฝ่ามือขวาของพระมหากัสสปะ ขณะนั้นไฟธาตุก็ลุกขึ้นโชติช่วง เผาพระสรีระได้เองเป็นอัศจรรย์ เมื่อถวายพระเพลิงและแจกพระบรมสารีริกธาตุเสร็จเรียบร้อยแล้ว พระมหากัสสปะพร้อมด้วยพระอรหันต์ 500 องค์ ก็ได้อัญเชิญพระอุรังคธาตุ มาทางอากาศ แล้วมาลงที่ดอยแท่น (ภูเพ็กในปัจจุบัน) จากนั้นได้ไปบิณฑบาตที่เมืองหนองหารหลวง เพื่อบอกกล่าวแก่พญาสุวรรณพิงคาระ ตำนานตอนนี้ตรงกับตำนานพระธาตุเชิงชุม และพระธาตุนารายณ์เจงเวง ซึ่งมีรายละเอียดอยู่แล้ว
เมื่อพญาทั้ง 5 ซึ่งอยู่ ณ เมืองต่าง ๆ อันได้แก่ พญานันทเสน แห่งเมืองศรีโคตบูร พญาจุลณีพรหมทัต พญาอินทปัตถนคร พญาคำแดง แห่งเมืองหนองหารน้อย และพญาสุวรรณพิงคาระ แห่งเมืองหนองหารหลวง ได้พากันปั้นดินดิบก่อแล้วเผาไฟ ตามคำแนะนำของพระมหากัสสปะ แบบพิมพ์ดินกว้างยาวเท่ากับฝ่ามือพระมหากัสสปะ
ครั้นปั้นดินเสร็จแล้วก็พากันขุดหลุมกว้าง 2 วา ลึก 2 ศอก เท่ากันทั้ง 4 ด้าน เมื่อก่อดินขึ้นเป็นรูปเตา 4 เหลี่ยม สูง 1 วา โดยพญาทั้ง 4 แล้ว พญาสุวรรณภิงคาระก็ได้ก่อส่วนบน โดยรวมยอดเข้าเป็นรูปฝาปารมีสูง 1 วา รวมความสูงทั้งสิ้น 2 วา แล้วทำประตูเตาไฟทั้ง 4 ด้าน เอาไม้จวง จันทน์ กฤษณา กระลำพัก คันธรส ชมพู นิโครธ และไม้รัง มาเป็นพื้น ทำการเผาอยู่ 3 วัน 3 คืน เมื่อสุกแล้วจึงเอาหินหมากคอยกลางโคก มาถมหลุม เมื่อสร้างอุโมงค์ดังกล่าวเสร็จแล้ว พญาทั้ง 5 ก็ได้บริจาคของมีค่าบรรจุไว้ในอุโมงค์เป็นพุทธบูชา
จากนั้น พระมหากัสสปะ ก็ได้อัญเชิญพระอุรังคธาตุ เข้าบรรจุภายในที่อันสมควร แล้วให้ปิดประตูอุโมงค์ไว้ทั้ง 4 ด้าน โดยสร้างประตูด้วยไม้ประดู่ ใส่ดาลปิดไว้ทั้ง 4 ด้าน แล้วให้คนไปนำเอาเสาศิลาจากเมืองกุสินารา 1 ต้น มาฝังไว้ที่มุมเหนือตะวันออก แปลงรูปอัศมุขี (ยักษิณีหน้าเป็นม้า) ไว้โคนต้นเพื่อเป็นหลักชัยมงคลแก่บ้านเมืองในชมพูทวีป นำเอาเสาศิลาจากเมืองพาราณสี 1 ต้น ฝังไว้มุมใต้ตะวันออก แปลงรูปอัศมุขีไว้โคนต้น เพื่อหมายมงคลแก่โลก นำเอาเสาศิลาจากเมืองตักศิลา 1 ต้น ฝังไว้มุมเหนือตะวันตก พญาสุวรรณพิงคาระให้สร้างรูปม้าอาชาไนยไว้ตัวหนึ่ง หันหน้าไปทางทิศเหนือ เพื่อแสดงว่าพระบรมธาตุเสด็จออกมาทางทิศทางนั้น และพระพุทธศาสนาจักเจริญรุ่งเรืองจากเหนือเจือมาใต้ พระมหากัสสปะให้สร้างม้าพลาหกไว้ตัวหนึ่ง คู่กัน หันหน้าไปทางทิศเหนือ เพื่อเป็นปริศนาว่า พญาศรีโคตบูรจักได้สถาปนาพระอุรังคธาตุไว้ตราบเท่า 5,000 พระวัสสา เกิดทางใต้และขึ้นไปทางเหนือ เสาอินทขีล ศิลาทั้ง 4 ต้น ยังปรากฏอยู่ 2 ต้น ทางทิศตะวันออก ส่วนอีก 2 ต้น ได้ก่อหอระฆังหุ้มไว้ ส่วนม้าศิลาทั้ง 2 ตัว ก็ยังปรากฏอยู่ถึงปัจจุบัน
งานวัดพระธาตุพนม
- งานนมัสการพระธาตุพนม ตรงกับขึ้น 8 ค่ำ เดือน 3 ถึง แรม 1 ค่ำ เดือน 3 รวม 9 วัน 9 คืน
- งานพระธาตุพนมรำลึกและมอบทุนการศึกษาแก่ผู้สอบได้บาลี ตรงกับวันที่ 11 สิงหาคน ของทุกปี
- งานสัตตนาคารำลึก งานรำลึกถึงพยานาคทั้ง 7 ตน ที่ดูแลพระธาตุพนม ตรงกับขึ้น 5 ค่ำ เดือน 11 (งานเริ่ม 4 ค่ำ เวลา 18.00 น. เป็นต้นไป ถึง 5 ค่ำ ตอนเช้า)
- งานบูรพาจารย์รำลึก ทำบุญอุทิศให้อดีตเจ้าอาวาส และบูรพาจารย์ของวัดพระธาตุพนม ตรงกับขึ้น 8 ค่ำ เดือน11
- วันมหาปวารณาออกพรรษา, รำบูชาพระธาตุพนม ตรงกับวันออกพรรษาของทุกปีสวดมนต์ข้ามปี เริ่มต้นดี ชีวิตดี ส่งท้ายปีเก่าวิถีไทย ต้อนรับปีใหม่วิถีพุทธ ณ ลานหน้าวัดพระธาตุพนม เริ่มละเบียนรับหนังสือสวดมนต์ เวลา 18.00 น. ถึงเช้า
ประวัติพระธาตุพนม จ. นครพนม
เปิดพระธาตุพนม สัมผัสด้านในพระธาตุที่คนทั่วไปเข้าไม่ได้
เปิดพระธาตุพนม สัมผัสด้านในพระธาตุที่คนทั่วไปเข้าไม่ได้
ฃ้อมูลจาก
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น